โดย...คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช
ตอนที่พ่อเป็นเด็กเล็กๆ พ่อเคยชินกับการเห็นคุณแม่ของพ่อสวดสายประคำพร้อมกับหนังสือรำพึงเล่มเล็กๆ ที่ชื่อว่า “สายประคำนำชีวิต” พอโตขึ้นมาอีกหน่อยพ่อคุ้นเคยกับการสวดสายประคำ พร้อมกันที่บ้านในตอนเย็นโดยมีคุณยายของพ่อเป็นผู้นำในการสวด เราสวดสายประคำพร้อมกันในครอบครัววันละหนึ่งสายโดยไม่มีบทรำพึงอะไร เพราะยายของพ่ออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่รัก การสวดสายประคำเป็นที่สุด เมื่อพ่อเข้าบ้านเณรแล้วกิจศรัทธาประการหนึ่งที่ได้รับการปลูกฝังและได้เห็นแบบอย่างที่ดีจากคุณพ่อทั้งหลาย ก็คือการสวดสายประคำ เราสวดโดยการรำพึงถึงธรรม ล้ำลึกของพระคริสตเจ้าในแต่ละวัน เมื่อได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว หลาย ๆ ครั้ง ที่ไปทำงาน อภิบาล เช่น ส่งศีล เยี่ยมผู้ป่วย เดินทางไปถวายมิสซาที่วัดน้อยในความดูแล ฯลฯ ซิสเตอร์และ บรรดาสัตบุรุษที่ร่วมเดินทางไปด้วยจะร่วมใจกันสวดสายประคำ เป็นคำภาวนาที่ซื่อๆ แต่น่าประทับใจและมีพลัง ดังนั้นในบทความนี้พ่อจึงขออนุญาตไม่เขียนว่า ลำดับขั้นตอนการสวดสายประคำที่ดีคืออะไร 1 2 3 …แต่อยากจะ บอกว่าตัวอย่างที่ดีในการสวดสายประคำของบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นที่พ่อประทับใจนั้น เขาสวดอย่างซื่อๆ เรียบง่าย แต่เปี่ยมด้ว ยความรักลึกซึ้งที่มีต่อพระเยซูคริสตเจ้าและแม่พระ และนี่คือพื้นฐานในการสวดสายประคำที่ดีที่สุดที่ลูกของพระพึงมีตามความเห็นของพ่อ
ความรักต่อพระเยซูเจ้าและแม่พระที่เป็นพื้นฐานในการสวดสายประคำ ทำให้เราแสวงหาความเข้าใจ และพยายามสวดสายประคำให้ดีที่สุด โชคดีที่เรามีตัวอย่างของบรรดานักบุญ และพระสันตะปาปาหลายท่านที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราในการสวดสายประคำ พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในพระสมณสาสน์ “การสวดสายประคำถึงพระนางพรหมจารีมารีย์” (Rosarium Virginis Mariae) ได้บอกกับเราว่า “แม้ว่าการสวดสายประคำจะมีลักษณะเป็นการภาวนาถึงแม่พระ แต่อันที่จริงแล้วเป็นการภาวนาที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง กิจศรัทธานี้มีส่วนประกอบเรียบง่ายก็จริง แต่ก็ถ่ายทอดคำสอนของพระวรสารได้ครบบริบูรณ์อย่างลึกซึ้ง” ดังนั้นเมื่อเราสวดสายประคำ เราจึงเป็นเสมือนศิษย์ของแม่พระ คอยเพ่งพินิจดูพระพักตร์ อันงดงามของพระคริสตเจ้า และสัมผัสกับความรักอันลึกซึ้งของพระองค์ นอกจากเราจะได้รับพระหรรษทานจากพระเจ้าสำหรับชีวิตของเรา โดยอาศัยคำเสนอวิงวอนของแม่พระผ่านทางการสวดสายประคำแล้ว พ่อยังเชื่อเหมือนกับที่นักบุญเปาโลได้เคยสอนคริสตชนในสมัยของท่านว่า “เราทุกคน (เมื่อมองดูพระสิริรุ่งโรจน์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า) จึงเปลี่ยนเป็นภาพลักษณ์เดียวกับพระองค์ ทวีความรุ่งโรจน์ยิ่งๆขึ้น เดชะองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นพระจิต” (2 คร 3:18)
จึงเห็นได้ว่าการสวดสายประคำเป็นการภาวนาแบบเพ่งพินิจที่วิเศษสุด พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ยังได้สอนพวกเราถึงแนวทางการสวดสายประคำว่า “ลักษณะของการสวดสายประคำเรียก ร้องให้เป็นการภาวนาที่ค่อยๆ ดำเนินไปช้าๆ มีเวลาให้แต่ละคนคิดคำนึงถึงพระธรรมล้ำลึกในพระชนมชีพของพระคริสตเจ้า โดยวิธีนี้ เราจะพบขุมทรัพย์สุดจะหยั่งถึงของธรรมล้ำลึกเหล่านี้ได้” ดังนั้นข้อรำพึงถึงเหตุการณ์ในชีวิตของพระเยซูเจ้าและแม่พระที่พระศาสนจักรนำเสนอให้เรารำพึงในแต่ละวัน จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะช่วยพวกเราคริสตชนในการสวดสายประคำ และจริงๆ แล้วการอ่านพระวาจาของพระเจ้าสั้นๆ (โดยเฉพาะพระวรสาร) พร้อมกับการสวดสายประคำ ก็จะช่วยให้เรารำพึงถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าและแม่พระได้ดียิ่งขึ้น อยากเชิญชวนพี่น้องทุกท่าน ได้นำวิธีนี้ไปใช้ในการสวดสายประคำส่วนตัว และเป็นพิเศษในการสวดสายประคำตามบ้านที่หลายๆ วัดจัดให้มีในช่วงเดือน
ตุลาคม
ที่สุดการสวดสายประคำยังเป็นกิจศรัทธาประการหนึ่งที่ช่วยเตรียมจิตใจเราอย่างดี ก่อนที่เราจะร่วมพิธีมิสซา จึงเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าที่แต่ละวัดได้จัดให้มีการสวดสายประคำและกิจศรัทธาอื่นๆ ที่เหมาะสมกับเทศกาลตาม
ปีพิธีกรรมก่อนพิธีมิสซา สำหรับการสวดสายประคำก่อนพิธีมิสซา อาจจะเพิ่มลักษณะการสวดสายประคำดังที่พ่อได้กล่าวถึงข้างต้นในบทความนี้ และให้มีเวลาเงียบมากขึ้น ที่จะรำพึงถึงชีวิตของพระเยซูเจ้าโดยอาศัยพระวาจาของพระเจ้าเข้ามาเสริม นอกจากนั้น การสวดสายประคำยังเป็นกิจศรัทธาประการหนึ่งที่ช่วยเราให้ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้าและแม่พระต่อไปในการดำเนินชีวิตของเราหลังพิธีมิสซาด้วย พ่ออยากสรุปบทความนี้ด้วยคำของท่านบุญราศีบาร์โทโล ลองโก ที่เคยเขียนไว้ว่า “เพื่อนสองคนที่อยู่ด้วยกันบ่อยๆ ย่อมมีแนวโน้มที่จะมีนิสัยเหมือนกันฉันใด การที่เรามาอยู่กับพระเยซูเจ้าและ พระนางพรหมจารีโดยรำพึงถึงธรรมล้ำลึกแห่งสายประคำ และมีชีวิตเดียวกันอาศัยศีลมหาสนิท ความถ่อมตนของเราก็จะทำให้เราเป็นเหมือนพระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ และเรียนรู้จากแบบอย่างเลอเลิศ นี้ เป็นคนถ่อมตน ยากจน ไม่โอ้อวด อดทน และมีความดีบริบูรณ์ได้ฉันนั้น”