Get Adobe Flash player

พระวาจาและบทเทศน์ประจำวัน

ไม่พบฟีด

ปีพระวาจาของพระเจ้า

พระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่

สถิติการเยี่ยมชม

005938914
Today
Yesterday
This Month
Last Month
All days
414
502
34481
48546
5938914
Your IP: 3.15.202.214
2024-04-18 16:02

กฤษฎีกาสมัชชาใหญ่
ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย
คริสตศักราช 2015
“ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่”
บทนำ ความเป็นมา
1. ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ค.ศ. 2015 ของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย สำนึกถึงพระคุณของบรรดาธรรมทูตที่ได้เดินทางมาประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้นในแผ่นดินสยามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1516 เป็นต้นมา และเหตุการณ์สำคัญคือสมัชชาแห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 350 ปีก่อน “สมัชชาแห่งกรุงศรีอยุธยา ค.ศ. 1664” ยังผลให้พระศาสนจักรหยั่งรากและเติบโต พัฒนาก้าวหน้ามาจนได้รับการสถาปนาพระฐานานุกรมเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา คือ เมื่อปี ค.ศ.1965 ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2015 นี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะขอบคุณพระเจ้าสําหรับพระพรแห่งความรอดพ้น และมองไปข้างหน้าด้วยความหวังในฐานะ “ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่” เพื่อให้บรรดาคริสตชนคาทอลิกสามารถเผชิญกับการท้าทายต่างๆ สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัยด้วยการเจริญชีวิตเชิงประจักษ์ และก้าวออกสู่การประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้า

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ ยึดมั่นตามคำสอนของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 จากพระสมณสาสน์ต่างๆ ของพระสันตะปาปาและคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรเป็นหลักสำคัญในการประกาศข่าวดีใหม่ เพื่อรักษาให้สอดคล้องกับคำสอนของพระศาสนจักรสากลอย่างซื่อสัตย์ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็วตลอดเวลา
“สภาพความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน และสังคมไทย”
2. การขยายตัวของลัทธิวัตถุนิยมและพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ส่งผลต่อสภาพการใช้ชีวิตของทุกคนในสังคม ผู้คนต้องดิ้นรนทำงานหนักขึ้นเพื่อหารายได้มาจุนเจือค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นนี้กระทบต่อสำนึกด้านจริยธรรมถึงขั้นที่การแสวงหาอำนาจและความร่ำรวยกลายเป็นปัจจัยในการกำหนดการตัดสินใจ แทนที่จะเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การทุจริต หรือการคดโกงกลายเป็นพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมในวงกว้าง โลกีย์นิยม วัตถุนิยมและแนวคิดแบบสัมพัทธ์นิยมเชิงจริยธรรม ทำให้คนจำนวนมากยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง บิดามารดาบางส่วนก็แทบจะทิ้งลูกๆ จนหมดสิ้นเพื่อการแสวงหาเงินตรา บางส่วนหันไปทำแท้งเพื่อไม่ให้ทารกที่เกิดมาเป็นเสี้ยนหนามของชีวิต ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารทำให้คนรุ่นใหม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ หลงเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง แทนที่จะใช้เวลากับคนจริงๆ และแทนที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น พวกเขากลับเสียเวลาไปกับการเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ การสนทนาออนไลน์ที่ไร้สาระ การโพสต์รูปหรือข้อความที่ขาดความรอบคอบ หรือการตกเป็นเหยื่อของการพนันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงติดกับดักของสื่อออนไลน์ที่เรียกว่า “โลกเสมือนจริง” นี้ได้โดยง่าย
การรุดหน้าของพัฒนาการด้านวัตถุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้วิถีชีวิต ศีลธรรมและจริยธรรมเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ขาดความใส่ใจด้านศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงาม มาตรฐานทางจริยธรรมถูก “ปรับ” ให้เข้ากับผลประโยชน์ทางวัตถุของผู้มีอำนาจ ในเวลาเดียวกัน การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ สรุปได้ว่า สิ่งที่สะท้อนสภาพของสังคมในยุคปัจจุบันได้อย่างตรงประเด็นที่สุด คือ "เศรษฐกิจก้าวหน้าแต่กลับไม่ส่งเสริมคุณค่าและความดีส่วนรวม"
พระศาสนจักรท่ามกลางบริบททางความเชื่อและวัฒนธรรมที่หลากหลายในประเทศไทย
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนคนไทยทุกคนในการนับถือศาสนา และยังระบุด้วยว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา”
พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนไม่ถึงร้อยละหนึ่งของจำนวนประชากร เจริญชีวิตและปฏิบัติพันธกิจท่ามกลางบริบทของสังคมที่มีความหลากหลายซับซ้อนในด้านประเพณีและวัฒนธรรม โดยมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่นับถือ บวกรวมกับอิทธิพลของความเชื่อถือและศาสนาดั้งเดิมของกลุ่มชนชาติพันธุ์อีกหลากหลายรูปแบบ ขณะที่ กระแสของโลกและสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบริโภคนิยม วัตถุนิยม ปัจเจกนิยม และสัมพัทธ์นิยม กำลังนำไปสู่สังคม “โลกีย์นิยม” อย่างรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น สภาพชีวิตด้านศาสนาของชาวไทยโดยทั่วไป จึงแสดงออกเป็นการปฏิบัติศาสนกิจตามรูปแบบของความเคยชินที่เชื่อว่าจะปกป้องตนให้พ้นจากภยันตรายต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้ได้บุญบารมีตอบสนองความปรารถนาที่แต่ละคนต้องการในมิติต่างๆของชีวิต
สิ่งท้าทายต่อพระศาสนจักรคาทอลิก และความมุ่งหมายหลักของสมัชชาใหญ่ฯ
4. ในบริบทของสังคมไทยเช่นนี้ คาทอลิกเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยของประเทศ ซึ่งอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของประเทศ ทั้งในชุมชนเมืองและชนบท ล้วนต้องเผชิญกับสภาพการท้าทายในลักษณะเดียวกัน คริสตชนคาทอลิกไทยถึงแม้ว่าได้มีความเชื่อแล้วโดยศีลล้างบาป แต่การปลูกฝังความเชื่อแรกเริ่มยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ การเรียนรู้คำสอนต่อเนื่องยังมีจำกัด ความเข้าใจข้อความเชื่อยังไม่ลึกซึ้งเพียงพอ ขาดประสบการณ์การพบและการสัมผัสส่วนบุคคลแบบตัวต่อตัวกับพระเยซูคริสตเจ้า และประสบการณ์ความเชื่อในรูปแบบชุมชนคริสตชนที่ชัดเจน จึงทำให้การเจริญชีวิตคริสตชนเป็นไปตามประเพณีปฏิบัติและผิวเผิน ยังไม่ตระหนักและอุทิศตนในบทบาทและหน้าที่ของการเป็นศิษย์พระคริสตเจ้าอย่างแท้จริง
ดังนั้น พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยต้องมุ่งเจริญชีวิตเป็นศิษย์พระคริสต์ให้เข้มข้นกว่าที่เคย โดยมุ่งมั่นเดินสวนกระแสและปฏิเสธ “โลกียนิยม” ดังกล่าว และมุ่งฟื้นฟูการประกาศข่าวดีขึ้นใหม่ พระศาสนจักรจะต้องเป็นประจักษ์พยานที่เด่นชัดถึงความเป็นหนึ่งเดียวในการเจริญชีวิตที่มีพระคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพื่อคริสตชนทุกคนสามารถเป็นเกลือดองแผ่นดินที่มีคุณภาพ และเปี่ยมด้วยแสงสว่างแท้ขององค์พระคริสตเจ้า (เทียบ มธ 5:13-14) อันเป็นแสงสว่างจากพระเจ้าองค์ความรักที่มอบให้แก่โลก (เทียบ ยน 1:1ff)
บทที่ 1 “ศิษย์พระคริสต์”
คริสตชนแต่ละคนเป็นศิษย์พระคริสต์
5. พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยเชื่อมั่นและตระหนักว่า คริสตชนทุกคนโดยอาศัยศีลล้างบาป มีส่วนร่วมในชีวิตพระตรีเอกภาพ กลับกลายเป็นบุตรของพระบิดาเจ้า เป็นส่วนของพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า (เทียบ 1คร 12) เป็นพระวิหารของพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลให้เข้ามีส่วนร่วมในชีวิตของพระคริสตเจ้า เป็นกิ่งองุ่นที่ติดกับลำต้น (เทียบ ยน 15) ดังนั้น คริสตชนทุกคนจึงเป็นศิษย์พระคริสต์ด้วยการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเชื่อ โดยปฏิบัติตามพระวาจาพระเจ้า สำนึกถึงบทบาทสำคัญยิ่งในการประกาศข่าวดีตามพระบัญชาของพระเยซูคริสต์ (เทียบ มธ 28: 19-20) เป็นประจักษ์พยานด้วยชีวิต ทำตามแบบอย่างของพระอาจารย์ด้วยการรักผู้อื่นก่อน จนผู้คนรอบข้างสัมผัส เข้าใจได้ถึงความรักของพระเจ้า และตอบรับความรักของพระองค์
“ชีวิตหมู่คณะ” (communitarian life) คริสตชนแต่ละคนรวมกันเป็นชุมชนพระศาสนจักร ชุมชนแห่งความรัก เจริญชีวิตในความเป็นจิตหนึ่งใจเดียวกัน
6. พระเยซูคริสต์ยังทรงสอนให้คริสตชนต้องเป็นประจักษ์พยานในมิติชีวิตหมู่คณะของบรรดาศิษย์ “พวกท่านจงรักกันและกันดังที่เรารักท่าน” (ยน 13: 34) และ “ให้ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน... เพื่อโลกจะได้เชื่อว่าพระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามา” (ยน 17: 21) พระวาจานี้เป็นพระพรยิ่งใหญ่สำหรับพระศาสนจักรที่มีมิติของชีวิตหมู่คณะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวคริสตชน ชุมชนคริสตชนย่อย (BEC) ในวิถีชุมชนวัด องค์กรคาทอลิกและองค์กรพระพรพิเศษต่างๆ ชมรมวิชาชีพ ชุมชนวัด หมู่คณะนักบวช หมู่คณะสงฆ์ และสังฆมณฑล ชีวิตหมู่คณะในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าวนี้ต้องได้รับการถ่ายทอดลงสู่ภาคปฏิบัติเป็นชีวิตจริงด้วยประจักษ์พยานชีวิตความรักต่อกัน ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เฉกเช่นคริสตชนในยุคแรก (เทียบ กจ 2: 42-47) อันส่งผลให้มีผู้กลับใจเป็นจำนวนมาก (เทียบ กจ 4: 34) นี่เป็นเป้าหมายที่สำคัญของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ในการรวมสรรพกำลังที่จะถ่ายทอดพระเจ้าองค์ความรักให้ปรากฏชัดในสังคมที่ถูกกระแส “โลกีย์นิยม” คุกคามจนกลับกลายเป็นทะเลทรายฝ่ายจิตอันแห้งแล้งความรักและความสัมพันธ์ต่อกันอย่างในปัจจุบัน
รูปแบบต่างๆ ของการรวมกลุ่มเป็นหมู่คณะหรือชุมชน องค์กรและสถาบันต่างๆของศิษย์พระคริสต์
7. สถาบันต่างๆ ของพระศาสนจักรในรูปแบบหมู่คณะ ชุมชน องค์กรพระพรพิเศษ ขบวนการ สมาคม ฯลฯ ล้วนเป็นพระพรที่พระจิตเจ้าได้ทรงบันดาลให้เกิดขึ้นในพระศาสนจักร เพื่อความดีของพระศาสนจักรส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อเข้าร่วมในพันธกิจประกาศข่าวดีแก่ประชาชนทุกภาคส่วน ในเมื่อพระศาสนจักรเป็นประชากรของพระเจ้า และมีธรรมชาติเป็นชุมชนแห่งความเชื่อ วิถีชีวิตของพระศาสนจักรทุกระดับจึงมีฐานอยู่ที่ชุมชนคริสตชนย่อยๆ (Basic Ecclesial Communities หรือ BECs) กระนั้นก็ดี ยังมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตและพันธกิจของบรรดาคริสตชน ดังนั้นชีวิตหมู่คณะ (community life) ในวิถีชีวิตคริสตชนจึงปรากฏในหลายรูปแบบ ได้แก่
1. หมู่คณะ RCIA ในกระบวนการเรียนรู้คำสอนและปลูกฝังความเชื่อคริสตชน
2. ชีวิตหมู่คณะในรูปแบบชีวิตครอบครัวคริสตชน (Christian Family)
3. การรวมตัวกันของครอบครัวคริสตชนบ้านใกล้เรือนเคียง (Neighborhood community)
4. องค์กรคาทอลิกและสถาบันคาทอลิกต่างๆ (Catholic Organizations & Institutions)
5. องค์กรพระพรพิเศษ (Movement) ที่มี charisma เฉพาะ
6. ชมรมวิชาชีพคริสตชน เพื่อนำคุณค่าพระวรสารลงสู่บริบทต่างๆ ในสังคม เช่น สมาคมครูคาทอลิก ชมรมเวชบุคคลคาทอลิก ชมรมนักธุรกิจคาทอลิก ฯลฯ
7. ชุมชนวัด (Parish Church) หรือ ชุมชนคริสตชน / ชุมชนแห่งความเชื่อ
8. หมู่คณะนักบวช (Religious Communities and Religious Institutes)
9. หมู่คณะสงฆ์ (Presbyterium)
10. สังฆมณฑล (Diocese) ซึ่งเป็นพระศาสนจักรท้องถิ่น (Local church)
เพื่อช่วยให้ศิษย์พระคริสต์ผู้เป็นสมาชิกของสถาบันต่างๆ ในวิถีชีวิตคริสตชนเติบโตในความเชื่อ และสามารถเข้าร่วมพันธกิจประกาศข่าวดีใหม่ได้อย่างมีผล จำเป็นที่พระศาสนจักรจะต้องช่วยนำสมาชิกเหล่านี้ให้มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตจิตแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Spirituality of Communion, cf. Novo Millennio Ineunte ข้อ 43-45) ในวิถีชีวิตชุมชนคริสตชนย่อยที่มีบรรยากาศของอารยธรรมแห่งความรัก ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนได้รับการฟื้นฟู มีความกระตือรือร้น เร่าร้อนในชีวิตความเชื่อ แสวงหาวิธีการและการแสดงออกในรูปแบบใหม่ เพื่อสรรพพร้อมที่จะเสวนากับโลกและสามารถเข้าร่วมในพันธกิจประกาศข่าวดีได้อย่างมีประสิทธิผล
ความหลากหลายของหมู่คณะ สถาบัน องค์กรต่างๆ ในพระศาสนจักร แม้จะปรากฏว่ามีความแตกต่างกัน ทั้งในโครงสร้าง จิตตารมณ์และการดำเนินงาน กระนั้นก็ตาม ล้วนมีเป้าหมายเพื่อพันธกิจร่วมกันในการประกาศข่าวดีอย่างมีเอกภาพ

search

เนื้อหา Update ล่าสุด

เรียนพระคัมภีร์กับคุณพ่อวสันต์

frwasan01

คลิปวีดีโอเสียงประกาศก